ปัญหาน้ำนมน้อย เป็นปัญหาหลักที่คุณแม่มือใหม่หลายๆ คนเครียด ซึ่งสามารถหาทางออกได้ด้วย เครื่องสำหรับปั๊มน้ำนม แต่กลายเป็นว่าตอนนี้กลับมาเครียดกับตัวเครื่องปั๊มแทนว่า ใช้อย่างไร ที่จะทำให้น้ำนมออกมาอย่างปลอดภัย และถูกต้อง เพราะเห็นคุณแม่มือใหม่หลายๆ คนมีอาการปวด หรือบาดเจ็บหลังใช้เครื่องปั๊ม เนื่องจากทำไม่ถูกวิธี ดังนั้นวันนี้เราจะมาบอกถึงวิธีใช้เครื่องปั๊มอย่างถูกต้อง สำหรับคุณแม่มือใหม่กัน
สิ่งที่จะเจอเมื่อใช้เครื่องปั๊มนมไม่ถูกวิธี
- มีอาการปวดบริเวณเต้านม จากการอักเสบ เพราะระดับแรงปั๊มของเครื่องแรงเกินไป ส่งผลให้คุณแม่บางคน มีอาการหัวนมแตก หรือเลือดไหลออกจากหัวนมมาได้
- น้ำนมไม่ไหล เพราะระดับแรงปั๊มน้ำนมที่เบาเกินไป จนน้ำนมไม่สามารถไหลออกมาได้
- น้ำนมหก เนื่องจากลืมถอดสายที่ต่อจากขวดนม ทำให้สายปัดขวดนมหกออกมาหมด เป็นข้อที่คุณแม่ลืมบ่อยกันมากๆ (เครื่องปั๊มนมแบบไฟฟ้า)
- เลือกใช้กรวยไม่ตรงกับขนาดหัวนม ข้อนี้ก็เจอบ่อยในคุณแม่มือใหม่ ที่กะขนาดไม่ถูก ทำให้น้ำนมไหลออกมาน้อย (กรวยใหญ่เกินไป) หรือไหลช้า (กรวยเล็กเกินไป) กว่าที่ควร
สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรรู้ ก่อนใช้เครื่องปั๊มนมแม่
- รู้ขนาด และเลือกกรวยให้ตรงกับขนาดหัวนมของตัวเอง
- รู้ระดับในการปั๊มน้ำนม เพื่อให้น้ำนมไหลออกมาได้ดี และเพียงพอ
- เมื่อปั๊มนมเสร็จ ควรเก็บทุกอย่างให้เรียบร้อย ไม่ฉะนั้นน้ำนมอาจหกได้
- หมั่นเช็กตัวเองว่าปั๊มน้ำนมได้เพียงพอหรือไม่ จำนวนที่แนะนำ ไม่ควรต่ำกว่า 8 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกันประมาณ 3 ชม.
- ก่อนปั๊มน้ำนม ไม่ต้องทำความสะอาดบ่อยๆ เพราะอาจทำให้หัวนมแห้ง และแตกได้ง่ายขึ้น
วิธีใช้เครื่องปั๊มนมที่ถูกวิธี (แบบใช้มือ และไฟฟ้า)
เครื่องปั๊มน้ำนมแบบใช้มือ
- ล้างมือ และทำความสะอาดขวดนม
- ดื่มน้ำอุ่น หรือนวดเต้านม หรือใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านม จะทำให้น้ำนมไหลได้ดีขึ้น
- ให้เอานิ้วโป้งวางเหนือหัวนม ส่วนนิ้วชี้อยู่ใต้หัวนม โดยทั้ง 2 นิ้วต้องห่างจากลานหัวนมประมาณ 1 นิ้ว และให้มืออยู่ในลักษณะตัว C แล้วกดลงพร้อมกันแบบช้าๆ จนน้ำนมเริ่มไหลออกมา
- นำกรวยของเครื่องปั๊มนมแบบมือวางไปบริเวณตรงกลางหัวนม และก็เริ่มใช้เครื่องปั๊ม
- พอน้ำนมเริ่มไหลคงที่ ให้ลดระดับแรงปั๊มลง เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมปวดมากเกินไป (ไม่ควรปั๊มนานเกินไป เพราะหัวนมอาจแตกได้)
- เมื่อปั๊มเสร็จ นำกรวยออกจากเต้า และนำขวดที่มีน้ำนมมาเขียนวันที่ และนำไปแช่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- ทำความสะอาดเครื่องปั๊มสำหรับน้ำนม เพื่อให้พร้อมใช้งานกับครั้งต่อไป
เครื่องปั๊มน้ำนมแบบไฟฟ้า
- ล้างมือ และทำความสะอาดขวดนม
- วางกรวยปั๊มนมบริเวณกึ่งกลางของหัวนม และใช้มืออีกข้างประคองเต้านม โดยนิ้วโป้งอยู่ข้างบน นิ้วชี้อยู่ข้างล่าง
- เริ่มเปิดเครื่องปั๊มนม โดยค่อยๆ ปรับความเร็ว และอัตราการปั๊มนมตามคู่มือ เริ่มต้นจากช้าๆ และไปเร็ว เมื่อน้ำนมเริ่มไหลคงที่่ ก็ค่อยๆ ปรับระดับความเร็วลง และเพิ่มอัตราการปั๊มขึ้น ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ1-3 นาที โดยการปั๊มนมแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 15-20 นาที
- เมื่อปั๊มนมเรียบร้อยแล้ว นำกรวยออกจากเต้านม และนำน้ำนมที่ได้เขียนวันที่ปั๊ม และไปแช่เย็นทันที เพื่อรักษาคุณภาพของน้ำนม
- ทำความสะอาดเครื่องปั๊มสำหรับน้ำนม เพื่อให้พร้อมใช้งานกับครั้งต่อไป
เคล็ด(ไม่)ลับคุณแม่มือใหม่ ใช้เครื่องปั๊มนมอย่างไร ปั๊มให้น้ำนมหมดเต้า
การปั๊มนมให้เกลี้ยงเต้า คือ เรื่องที่ควรทำ เป็นการระบายน้ำนมออกจากเต้าให้หมด เพื่อให้มีพื้นที่ในการผลิตน้ำนมใหม่ในครั้งต่อๆ ไป เพราะน้ำนมจะมีรอบการผลิตใหม่ตลอด พอน้ำนมเต็มเต้านม ก็จะเกินอาการคัดตึง ต้องให้ลูกมาดูด หรือปั๊มระบายออกไป ซึ่งการใช้เครื่องปั๊มน้ำนมระบายน้ำนมออกมาตามรอบ จะช่วยให้เป็นการกระตุ้นในมีการผลิตน้ำนมที่บ่อยขึ้น และแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำนมน้อยอีกด้วย
เทคนิคปั๊มนมอย่างไรเกลี้ยงเต้า
- เวลาที่ปั๊มสำคัญ โดยปกติค่าเฉลี่ย 1 ข้างจะอยู่ที่ 15-20 นาที ต่อการปั๊มนมแต่ละครั้ง เพราะเป็นเวลาที่เท่าลูกดูนมแม่จนหมดเต้า แต่ถ้าถึงเวลาตามที่กำหนด แต่ยังมีน้ำนมไหลออกมา ก็สามารถปั๊มต่อได้อีก 2-5 นาที ก็จะหมดเต้า (ไม่ควรปั๊มนานกว่านี้ เพราะเต้านมอาจบาดเจ็บได้ )
- ควรปั๊มนมให้ตรงเวลาทุกวัน ทุกๆ 3-4 ชั่วโมง จะช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมให้ดีขึ้น และเป็นการลดอาการคัดตึง หรือเจ็บเต้านมได้ เพราะได้ระบายน้ำนมจนเกลี้ยงเต้า
- ควรปั๊มน้ำนมให้หมดเต้าทีละข้าง
- ลองสังเกตเต้านม เวลาปั๊ม หรือลูกดูดนมเสร็จ ถ้าเต้านมดูนิ่ม หรืออ่อนลง หรืออาการคัดตึงหายไป แสดงว่าน้ำนมเกลี้ยงเต้าแล้ว
แต่สิ่งที่ควรระวังมากที่สุดในการใช้เครื่องปั๊มนม คือ ถ้าใช้เครื่องแล้วรู้สึกเจ็บ อย่าฝืนเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เต้านม อักเสบ และบาดเจ็บได้ ควรหยุดทันทีเมื่อมีอาการ แล้วเรามาสังเกตว่าที่มีอาการเจ็บเกิดจากสาเหตุใด เช่น ใช้กรวยไม่พอดีกับขนาดหัวนมหรือไม่ ระดับความเร็วการปั๊มแรงไปหรือไม่ เป็นต้น ถ้าเกิดลองปรับแล้ว แต่ยังเจ็บอยู่ แนะนำว่าควรไปพบแพทย์เฉพาะด้านเต้านม เพื่อปรึกษา และตรวจดูความผิดปกติที่อาจจะไม่ได้เกิดจากการใช้เครื่องปั๊มน้ำนมที่ผิดก็เป็นได้